ปัจจัยที่ทำให้น้องหมาน้องแมวอ้วน
0 Vote 9724 Views

ทำไม?? น้องหมาน้องแมวบางตัวถึงอ้วนง่าย บางตัวกินเยอะไม่อ้วน แต่บางตัวกินนิดเดียวก็อ้วนแล้ว...ในคนต้องบอกว่าแค่หายใจก็อ้วนแล้ว ใช่มั้ยคะ...นั่นเป็นเพราะว่าปัจจัยเหล่านี้ค่ะ (สำหรับใครที่ยังไม่แน่ใจว่า น้องหมาน้องแมวของเราอ้วนหรือไม่ สามารถคลิ๊กอ่านได้ที่ EP. น้องหมาน้องแมวของเราอ้วนหรือเปล่านะ) https://www.prscthailand.com/content

1. อายุ
เมื่อสุนัขและแมวโตขึ้น ความต้องการพลังงานต่อวันจะลดลง เนื่องจากอัตราการเผาผลาญของร่างกายลดลงและกิจกรรมที่ทำต่อวัน เช่นการวิ่งเล่น วิ่งซนก็จะลดลง หากให้อาหารในพลังงานเท่าเดิม ก็จะทำให้กลายเป็นโรคอ้วนในที่สุด จึงจะเห็นได้ว่าส่วนมาก น้องหมาน้องแมวมักจะเริ่มมีภาวะอ้วนเมื่ออายุ 5 ปีขึ้นไปค่ะ

2. เพศ

น้องหมาน้องแมวเพศเมียมีแนวโน้มเสี่ยงที่จะเป็นโรคอ้วนได้ง่ายกว่าเพศผู้ (ในคนก็เป็นเหมือนกันนะคะ....หมอเศร้าจังเลยค่ะ TT^TT)

3. พันธุกรรมและพันธุ์เสี่ยง

ในบางครั้งโรคอ้วนเกิดจากการส่งต่อทางพันธุกรรม ถ้าพ่อพันธุ์แม่พันธุ์อ้วน รุ่นลูกรุ่นหลานก็มักจะอ้วนด้วยเหมือนกันค่ะ ซึ่งพันธุ์ของสุนัขที่มีแนวโน้มเสี่ยงที่จะเป็นโรคอ้วนได้ง่าย ได้แก่ Beagles, Labrador retrievers, Golden Retriever, Pug, Cocker spaniels, Basset hounds, Dachshund, Cavalier King Charles และ West highland white terrier เป็นต้น ส่วนในน้องแมวนั้นมักเกิดจากการเลี้ยงมากกว่าปัจจัยทางสายพันธุ์ค่ะ

4. พฤติกรรมของเจ้าของ

พฤติกรรมการเลี้ยงดูของเจ้าของมีส่วนสำคัญมากๆ ที่ทำให้สัตว์เลี้ยงเป็นโรคอ้วน เจ้าของบางท่านใจอ่อน หากถูกอ้อน หรือ ขอขนมก็มักจะให้เสมอ สัตว์เลี้ยงก็จะยิ่งขอ ยิ่งให้ วนไปไม่รู้จบ หรือบางท่านอาจไม่มีเวลาพาไปออกกำลังกาย นอกจากนี้ยังพบว่า การที่เจ้าของอ้วน จะมีแนวโน้มทำให้สัตว์เลี้ยงอ้วนด้วยเช่นกันค่ะ

5. อาหารและโภชนาการ

การให้อาหารในปริมานที่มากเกินไป และให้กินขนมหรืออาหารที่คนกินมากเกินไป เป็นปัจจัยสำคัญอันดับต้นๆ ที่ทำให้เกิดโรคอ้วนในสัตว์เลี้ยง ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรให้อาหารในปริมาณที่พอเหมาะ และหลีกเลี่ยงการให้ของกินเล่นระหว่างวัน เนื่องจากของกินเล่นเหล่านี้ มักมีไขมันเกินกว่าความจำเป็นต่อร่างกายของสัตว์เลี้ยง ยิ่งไปกว่านั้น หากให้อาหารคนที่มีการปรุงรสก็อาจส่งผลเสียในระยะยาว ทำให้น้องหมาน้องแมวเป็นโรคไตตามมาได้ได้ค่ะ...แถมยังจะทำให้ติดรสชาด ไม่ยอมกินอาหารของตัวเอง เลือกกินและกินยากขึ้นด้วยค่ะ

6. การทำหมัน

การทำหมันจะส่งผลให้ฮอร์โมนเพศลดลง และมีการเผาผลาญพลังงานลดลง โดยปกติแล้วจะมีความต้องการพลังงานลดลงเฉลี่ย 20-30% ของความต้องการตามปกติ แต่ต้องเน้นย้ำก่อนนะคะว่า.."การทำหมันไม่ใช่สาเหตุที่สัตว์เลี้ยงอ้วน" แต่เกิดจากการที่ เราไม่ปรับอาหารให้สมดุลกับความต้องการที่ลดลงของเค้าต่างหาก ดังนั้นหากเป็นอาหารสำเร็จรูปก็ควรให้สูตรที่เฉพาะสุนัขและแมวทำหมัน หรือ หากไม่มีสูตรดังกล่าวก็ต้องลดปริมานอาหารลง 20-30% นั่นเองค่ะ

7. โรคที่ส่งผลต่อเมตาบอลึซึม

โรคบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมน เช่น โรคไทรอยด์ต่ำ (Hypothyriodisim) หรือ โรคฮอร์โมนต่อมหมวกไตสูง (Cushing disease) ส่งผลทำให้อัตราการเมตาบอลึซึมของร่างกายเปลี่ยนแปลงไป ทำให้สุนัขอ้วนง่าย และ “ลงพุง” มากกว่าสุนัขทั่วไป และมักมีอาการความผิดปกติอื่นๆร่วมด้วย เช่น ขนร่วงมาก กินน้ำเยอะ ปัสสาวะเยอะกว่าปกติ เป็นต้น ซึ่งโรคดังกล่าวมักเกิดขึ้นในสุนัขมากกว่าแมวค่ะ

บทความโดย สพ.ญ. พรปวีณ์ ธนรัตน์สุทธิกุล

Photo credit: youdidwhatwithyourweiner, pughealth.org, freepik