เมื่อลูกรักเป็นโรคไต
0 Vote 13867 Views

เมื่อสุนัขหรือแมวที่คุณรักมีอาการซึม ไม่ทานอาหาร เมื่อพาไปพบสัตวแพทย์ หลังทำการตรวจเลือดปรากฏผลว่าเป็น “โรคไต” บ้างก็บอกว่า “ไตวาย” ในฐานะเจ้าของ คุณควรทำอย่างไรและมีอะไรที่พอจะช่วยเขาได้บ้าง

ทำความรู้จักกับโรคไต

ภาวะโรคไตหรือไตวาย เป็นความบกพร่องในการทำงานของไต ซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญในการขับทิ้งของเสียในเลือด ควบคุมปริมาณน้ำในร่างกาย ควบคุมจำนวนเม็ดเลือดแดง ควบคุมระดับแคลเซียม-ฟอสเฟต และควบคุมความดันโลหิต เมื่อไตมีความเสียหายจนเกิดความบกพร่องในการทำงานเกินกว่า 66% ไตจะเสียความสามารถในการควบคุมสมดุลน้ำในร่างกาย ทำให้ปัสสาวะมีสีเหลืองใสและมีปริมาตรมากกว่าปกติ

จนเมื่อไตเสียหายจนเกิดความบกพร่องในการทำงานเกินกว่า 75% เกิดภาวะไตวาย ขึ้นมีผลทำให้เกิดการคั่งค้างของของเสียในเลือด เราจึงสามารถตรวจพบว่ามีค่าไต (BUN และ Creatinine) ในเลือดสูงขึ้นกว่าปกติ ยิ่งค่าไตสูงมากขึ้นสัตว์ก็จะเริ่มแสดงอาการอันเกิดจากความเป็นพิษได้ชัดเจนขึ้น ซึ่งเรียกการเพิ่มขึ้นของระดับของเสียจนสัตว์รู้สึกได้และแสดงอาการว่า “Uremia”

IRIS เป็นสมาคมนานาชาติเกี่ยวกับโรคไตสมาคมหนึ่งที่เป็นที่รู้จัก ซี่งชื่อย่อมาจาก The International Renal Interest Society ได้เสนอเกณฑ์ในการกำหนดระดับความรุนแรงของภาวะไตวายโดยดูจากระดับ Creatinine ในเลือด (mg/dl) ดังนี้

ภาวะแทรกซ้อนของโรคไต

เมื่อสัตว์เลี้ยงเป็นโรคไต ภาวะที่พบได้บ่อยๆ มีดังนี้

- ภาวะร่างกายเป็นกรดมากกว่าปกติ
เมื่อไตเกิดความเสียหาย ความสามารถในการขับกรดทิ้งจะลดลง เมื่อกรดในเลือดสูงขึ้น สัตว์จะซึม เบื่ออาหาร กล้ามเนื้ออ่อนแรง อาเจียน และอาจทำให้สัตว์ถึงกับชีวิตได้

- ภาวะความดันโลหิตสูง
สาเหตุมักเกิดจาก ภาวะคั่งของเกลือโซเดียมในร่างกาย รวมทั้งภาวะที่ไตถูกกระตุ้นให้หลั่งฮอร์โมน angiotensin ออกมามากกว่าปกติ ส่งผลให้มีความดันเลือดสูงขึ้น หากปล่อยภาวะนี้ไว้นานๆ ไตเสียหายเร็วขึ้น หาก ความดันโลหิตสูงมากๆ จะทำให้เกิดเลือดออกในจอตา สัตว์ อาจตาบอดได้ ในที่สุด

- ภาวะโลหิตจาง
เนื่องจากไตทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมน erythropoietin ไปกระตุ้นไขกระดูกให้ สร้างเม็ดเลือดแดง เมื่อเป็นโรคไต ฮอร์โมนจะถูกสร้างลดลง ทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง

- ภาวะกระดูกพรุน
เกิดจากการคั่งของ ฟอสฟอรัส ในเลือด เนื่องจากไตขับทิ้งไม่ได้ เพื่อรักษาความสมดุลของ แคลเซียม และฟอสฟอรัสในร่างกาย จึงไปดึงเอาแคลเซียมออกจากกระดูกเพื่อเพิ่มปริมาณแคลเซียมในเลือด จึงทำให้เกิดภาวะกระดูกพรุน

- ภาวะของเสียคั่งในเลือด
ของเสียที่เรียกว่า “ยูเรีย” ซึ่งมีความเป็นกรดสูง เมื่อไตขับออกไม่ได้ จึงไปรบกวนระบบเมตาบอลิซึม ต่างๆ ของร่างกาย เช่น ในระบบทางเดินอาหาร จะทำให้เกิดภาวะอาเจียน ท้องเสีย ถ่ายเหลวเป็นเลือดสีดำ และถ้าเกิดการคั่งมากๆ จะไปรบกวนการทำงานของระบบประสาทจนทำให้เกิดอาการชัก ภาวะนี้เราเรียกว่า “uremia” เมื่อสัตว์เกิดภาวะนี้ขึ้น จำเป็นที่จะต้องนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด

วิธีสังเกตสัตว์เลี้ยงว่าอาจมีแนวโน้มเป็นโรคไต

“โรคไต” เป็นโรคที่ทำการวินิจฉัยได้ยาก เมื่อดูจากอาการภายนอกเพียงอย่างเดียว เนื่องจากไตมักสูญเสียการทำงานมากกว่า 75 % แล้วจึงจะแสดงอาการต่างๆ ออกมา นอกจากนั้นยังมีความกี่ยวข้องกับอวัยวะอีกหลายระบบ อาจทำให้มีอาการที่แสดงออกมาหลากหลายได้ ซึ่งสังเกตได้ ดังนี้

- กระหายน้ำมากขึ้น และปัสสาวะมากขึ้น
- ความอยากอาหารลดลง
- เชื่องช้า และใช้เวลาในการนอนมากขึ้น
- น้ำหนักลด
- มีกลื่นปากเหม็น
- ร่างกายอ่อนแอ
- เป็นแผลในช่องปาก อาเจียน และท้องเสีย

แต่บางตัวอาจไม่แสดง อาการผิดปกติให้เห็น ทำให้เจ้าของมักมองข้ามสิ่งเหล่านี้ไป กว่าจะพามาพบสัตวแพทย์อาการก็รุนแรงมากแล้ว เช่น อาเจียน ถ่ายเป็นเลือดดำ หมดแรง ไม่ยอมใช้สองขาหลัง ชักกระตุก

แนวทางการรักษา

จุดมุ่งหมายในการรักษาสัตว์ป่วยโรคไตคือการป้องกัน ชะลอ หรือแก้ไขภาวะUremia ที่เกิดขึ้น นั่นคือการพยายามรักษาอาการป่วยไตวายในระดับ 3 และ 4 ให้กลับมาอยู่ที่ระดับ 2 การจัดการในปัจจุบันมุ่งเน้นไปที่การให้น้ำเกลือให้เข้าทางหลอดเลือดหรือใต้ผิวหนัง เพื่อเร่งการขับสารพิษตระกูล ยูเรีย และเพิ่มเลือด ไปเลี้ยงไตให้เพียงพอจนไตสามารถปรับตัวและกลับมาทำงานได้เพิ่มขึ้นได้ นอกจากน้ำเกลือแล้วยาชนิดต่างๆ อาทิ ยาลดกรดในกระเพาะ ยาลดการดูดซึมฟอสเฟตที่ลำไส้ ฮอร์โมนกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง และยาลดความดันโลหิต อาจถูกเลือกใช้ โดยสัตวแพทย์จะเป็นผู้ให้คำแนะนำว่ายาชนิดใดบ้างที่มีความจำเป็นและเหมาะสม

นอกจากนี้ การควบคุมอาหารก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ปัจจุบันมีอาหารสำหรับสัตว์ป่วยภาวะไตวายหลากหลายยี่ห้อ ทุกยี่ห้อล้วนมีวัตถุประสงค์เดียวกันคือเพื่อชะลอการเข้าสู่ไตวายระยะท้าย และยืดอายุสัตว์ป่วยให้ยาวนานที่สุดบนพื้นฐานของคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งท่านสามารถขอคำปรึกษาจากทางสัตวแพทย์ได้