เนื้องอกเต้านมในสัตว์เลี้ยง
0 Vote 22834 Views

หากผู้อ่านทุกท่านกำลังเลี้ยงสุนัขหรือแมวเพศเมียไว้ในบ้าน บทความนี้เหมาะสมกับท่านเป็นอย่างยิ่งค่ะ (ช้าก่อน... ถึงมีแต่สัตว์เลี้ยงเพศผู้ ก็อยากให้อ่านกันนะคะ) วันนี้โรคที่อยากแนะนำให้รู้จักกันก็คือ โรคเนื้องอกเต้านมค่ะ เต้านมเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับความเป็นผู้หญิง จึงมักมีปัญหาในสัตว์เลี้ยงเพศเมียมากกว่าเพศผู้ อันเนื่องมาจากฮอร์โมนเพศหญิงค่ะ อายุมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดเนื้องอกเต้านมเช่นเดียวกับโรคเนื้องอกอื่นๆ โดยมักพบโรคนี้ในสัตว์เลี้ยงที่มีอายุมาก สิ่งแรกที่เจ้าของสามารถสังเกตเห็นได้คือ เต้านมของสัตว์เลี้ยงมีการขยายใหญ่ขึ้น จะเป็นความผิดปกติอะไรได้บ้างนั้น วันนี้เรามีคำตอบค่ะ

การขยายใหญ่ของเต้านมเกิดได้จาก 3 สาเหตุ ได้แก่

1. อุบัติเหตุต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการกระทบกระแทก โดนตี หรือโดนแมลง สัตว์กัดต่อย จนเกิดการอักเสบของเต้านม สาเหตุนี้ต้องใช้ยารักษาจึงจะหาย

2. เกิดจากอิทธิพลของฮอร์โมนเพศ เช่น ภาวะสัตว์ก่อนหรือหลังคลอด ภาวะท้องเทียม สาเหตุนี้ไม่ต้องรักษา สามารถเกิดขึ้นและหายไปได้เอง มักไม่ก่อให้เกิดการอักเสบ

3. เนื้องอกเต้านม โดยจะแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่

- เนื้องอกธรรมดา เนื้องอกชนิดนี้จะไม่ขยายใหญ่ขึ้นอย่างรวดเร็ว มีขนาดเท่าเดิมเป็นหลักเดือนหรือปี หรือโตขึ้นไม่มากนัก มักไม่ก่อให้เกิดการอักเสบ หรืออักเสบเพียงเล็กน้อย อยู่ในชั้นใต้ผิวหนัง ขยับไปมาได้ เนื้องอกชนิดนี้ไม่ต้องรักษาได้ค่ะ แต่ให้เจ้าของสังเกตวัดขนาดเป็นระยะ หากโตขึ้นอย่างรวดเร็วหรือมีขนาดใหญ่มากควรรีบพามาพบสัตวแพทย์ค่ะ

- มะเร็งเต้านม ขึ้นชื่อว่ามะเร็งย่อมน่ากลัวอยู่แล้วนะคะ การรักษาตั้งแต่ในระยะเริ่มแรกจะดีที่สุดค่ะ เราสามารถสังเกตได้ง่ายว่านี่คือมะเร็งหรือไม่ โดยดูจากก้อนเนื้องอกเต้านมจะโตเร็วมาก และมักจะยึดติดกับผนังหน้าท้อง ไม่สามารถขยับไปมาใต้ผิวหนังได้ มักมีการอักเสบเกิดขึ้น (บวม ร้อน แดง ปวด) บางครั้งหากก้อนมีขนาดใหญ่มากจะแตกออกมาเป็นแผลเปิด และเลือดมักหยุดไหลยาก เมื่อเกิดก้อนเนื้องอกที่เต้านมขึ้น

ในสุนัขจะมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งอยู่ที่ 50% แต่หากเป็นแมว จะมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งอยู่ที่ 80-90% เลยทีเดียวนะคะ เพราะฉะนั้นหากเป็นแมวต้องรีบตรวจรักษาให้เร็วที่สุด

ความน่ากลัวของมะเร็งยังไม่จบแค่นี้ค่ะ มะเร็งยังสามารถแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆได้ โดยอวัยวะที่มะเร็งมักจะแพร่กระจายไป เช่น ปอด ต่อมน้ำเหลือง และอวัยวะในช่องท้อง เป็นต้น

การรักษาที่ดีที่สุด คือการผ่าตัดเพื่อเอาก้อนเนื้องอกและเต้านมออก หลังจากการผ่าตัดต้องพิจารณาว่าจะต้องให้เคมีบำบัดหรือไม่ในลำดับต่อไป มะเร็งเต้านมหลังจากที่ตัดออกไปแล้วยังสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีก ดังนั้นเจ้าของควรสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดนะคะ

หากเจ้าของต้องการลดความเสี่ยงของการเกิดเนื้องอกเต้านมในสัตว์เลี้ยง สามารถทำได้โดยการพาสัตว์เลี้ยงไปทำหมันตั้งแต่ก่อนสัตว์เลี้ยงเป็นสัด หากสัตว์เลี้ยงของท่านเริ่มมีอายุมากขึ้น (โดยเฉลี่ยประมาณ 5 ปีขึ้นไป) เจ้าของควรหมั่นคลำตรวจร่างกาย และสังเกตสัตว์เลี้ยงของท่านสม่ำเสมอ เพราะหากทราบปัญหาได้เร็ว และสามารถรักษาได้ในระยะเริ่มต้น ผลการรักษามักจะประสบความสำเร็จมากกว่า การผ่าตัดเลาะเนื้องอกที่มีขนาดใหญ่มากจะทำได้ยากมากกว่าขนาดเล็ก ซึ่งโดยส่วนมากเจ้าของมักจะพามารักษาเมื่อมะเร็งอยู่ในระยะท้ายแล้ว

หากท่านพบว่าสัตว์เลี้ยงของท่านมีก้อนเนื้อผิดปกติที่บริเวณเต้านม ควรนำสัตว์เลี้ยงของท่านมารับการตรวจโดยสัตวแพทย์นะคะ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือนัดหมายเพื่อเข้ารับการตรวจเนื้องอกเต้านมได้ที่โรงพยาบาลสัตว์รัตนาธิเบศร์ทุกสาขา หรือโทร 02-1968244-6

สพญ. ฐิติมา ตาณังกร
คลินิกระบบสืบพันธุ์, อายุรกรรมทั่วไป
โรงพยาบาลสัตว์รัตนาธิเบศร์