โรคปากแหว่งเพดานโหว่
0 Vote 19752 Views
โรคปากแหว่งเพดานโหว่

โรคปากแหว่งเพดานโหว่ คือ การมีรูเปิด เชื่อมระหว่างช่องปากและจมูก เกิดขึ้นจากการที่เนื้อเยื้อที่ควรเจริญขึ้นมากั้นระหว่างช่องปากและจมูกไม่เจริญเติบโต ซึ่งถือเป็นความพิการแต่กำเนิด แบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ 1. แบบปฐมภูมิ คือบริเวณริมผีปากแหว่ง (primary cleft palate) 2. แบบทุติยภูมิ (secondary cleft palate) เริ่มแหว่งตั้งแต่บริเวณเพดานปาก โดยอาจยาวตลอดไปจนถึง เพดานอ่อน และเพดานแข็งได้

สุนัขและแมวพันธุ์แท้ มีโอกาสพบโรคนี้มากกว่าพันธุ์ผสม และพบมากที่สุดในพันธุ์หน้าสั้น โดยพันธุ์ที่มีโอกาสพบได้มาก ได้แต่
- Boston terrier
- Pekingese
- Bulldogs
- Miniature schnauzers
- Beagle
- Cocker spaniels
- Dachshunds
- Siamese cats

โดยสาเหตุหลักเกิดจาก กรรมพันธุ์ แต่การขาดสารอาหาร ติดเชื้อไวรัส และการได้รับสารพิษ ในระหว่างตั้งครรภ์ อาจเป็นสาเหตุโน้มนำให้เกิดโรคได้เช่นกัน

อาการ
Primary cleft palate จะสามารถสังเกตเห็นได้ง่ายกว่า เนื่องจากรอยโรคมองเห็นได้จากภายนอก
- รูจมูกผิดรูป
- สามารถเห็นเหงือก และ ฟันบนได้จากภายนอก

Secondary cleft palate รอยโรคจะอยู่ภายในช่องปาก
- จาม มีเสียงดังออกทางจมูก เพราะอาหารและน้ำลาย ผ่านเข้าไปในจมูก
- มีน้ำมูกไหลหลังกินอาหาร ขณะก่อน หรือหลังกินนม และจะไหลต่อเนื่องถ้าหากมีการติดเชื้อร่วมด้วย
- ไอ และ ขาก เมื่อดื่มน้ำ
- เจริญเติบโตช้า เนื่องจากมีปัญหาในการกินอาหาร
- มีปัญหาในเรื่องการหายใจ และการทำกิจกรรมต่างๆ เนื่องจาก มีของเหลว หรือการติดเชื้อในจมูก



การวินิจฉัย
การเปิดปากตรวจทั่วไปสามารถเห็น บริเวณ ริมฝีปาก และ เพดานแข็งที่แหว่งได้ แต่อาจต้องวางยาสลบหากต้องการตรวจบริเวณเพดานอ่อน เนื่องจากอยู่ลึกลงในช่องปาก
การถ่ายภาพรังสี (X-ray) เพื่อตรวจภาวะปอดติดเชื้อ (aspiration pneumonia) ที่มักเกิดจากการสำลักนมและอาหาร



การรักษา
กรณี primary cleft palate ขนาดเล็กมักไม่ก่อให้เกิดปัญหาแต่เจ้าของสัตว์มักจะ ให้ทำการผ่าตัดแก้ไข จากเหตุผลในเรื่องความสวยงาม

กรณี secondary cleft palate ต้องทำการผ่าตัด เพื่อป้องกันภาวะติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ ภาวะปอดติดเชื้อ (aspiration pneumonia) และช่วยให้สัตว์สามารถกินอาหารได้อย่างปกติ การผ่าตัดมีหลายเทคนิค โดยทั่วไปจะเป็นการทำ flap หรือดึงเนื้อเยื่อด้านข้างมาปิดรูที่เพดานแข็ง หรือเพดานอ่อน
อย่างไรก็ตามการผ่าตัดอาจทำในยากในกรณีสัตว์ที่อายุน้อยมาก และช่องเปิดอาจมีขนาดเล็กลงบ้างเมื่อสัตว์โตขึ้น โดยทั่วไปจึงอาจให้วิธีการสอดท่อให้อาหาร จนอายุ 3-4 เดือนค่อยทำการผ่าตัด เจ้าของอาจเรียนรู้วิธีการสอดท่อให้อาหารในแต่ละมื้อ หรืออาจให้สัตวแพทย์ ทำการสอดท่อให้อาหารค้างไว้ ผ่านทางด้านข้างของคอ เพื่อที่จะป้อนอาหารเหลวได้ง่าย
นอกจากนี้ มีการใช้เพดานปากเทียม (Prosthesis) แบบถาวร หรือชั่วคราว ทำจากวัสดุ เช่น metal alloy หรือ เรซิ่น (Resin)ในการช่วยปิดรูที่มีขนาดกว้างที่ไม่สามารถใช้เนื้อเยื่อรอบข้างเย็บปิดได้ โดยต้องทำการวางยาสลบ 2 ครั้ง ครั้งแรก เพื่อทำการพิมพ์แบบ เพื่อหล่อแบบทำแผ่นปิดที่เหมาะสมกับตัวสัตว์ และอีกครั้งเพื่อทำการผ่าตัดใส่แผ่นปิดรู ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อย จากการใช้เพดานปากเทียม คือ ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น ดังนั้นจึงควรทำการตรวจ แผ่นปิดรู ทุก 6-12 เดือน โดยต้องทำการวางยาสลบ นำแผ่นออกมาทำความสะอาดและใส่กลับที่เดิม

การดูแลหลังรักษา
เนื่องจากเป็นการผ่าตัดในสัตว์อายุน้อย มีปัญหาระบบทางเดินหายใจ และ น้ำหนักน้อยผิดปกติ ทำให้การวางยาสลบและการผ่าตัด มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ในบางกรณี หลังจากการผ่าตัด อาจพบเพดานอ่อนบวม ทำให้หายใจลำบาก และมีเสียงกรนได้ ซึ่งมักจะหายได้เอง

การดูหลังการผ่าตัด ได้แก่
- สัตว์ต้องได้รับยาต้านจุลชีพต่อเนื่อง ในกรณีที่มีภาวะปอดบวม หรือติดเชื้อในช่องจมูกร่วมด้วย
- ควรใส่ปลอกคอกันเลีย (Elizabeth collar) ไว้ 1-2 สัปดาห์เพื่อป้องกันแผล
- ให้อาหารอ่อน หรืออาหารบดเหลว ทางปาก หรือ ทางท่อให้อาหาร 2-4 สัปดาห์ หลังผ่าตัด
- ห้ามให้อาหารแข็ง และแทะของเล่น เป็นเวลาอย่างน้อย 1 เดือน



ภาวะแทรกซ้อน
- แผลผ่าตัดไม่เชื่อมติดกัน หรือ แผลแตก เนื่องจาก สัตว์ทำการเกาบริเวณหน้า หรือแรงตึงของแผลมากเกินไป มักเกิดขึ้น 3-5 วันหลังผ่าตัด
- มีน้ำมูก และจาม
- ยังคงมีอาการไอ และ ขาก เนื่องจาก เพดานอ่อนสั้น



การพยากรณ์โรค
อยู่ในเกณฑ์ ดีเยี่ยมในกรณีที่รูแหว่งมีขนาดเล็ก หากรอยโรคมีขนาดยาวเกินครึ่งนึงของเพดานแข็ง การผ่าตัดจะทำได้ยากขึ้น และมักมีภาวะแทรกซ้อนได้มากกว่า ส่วนรอยโรคที่มีขนาดใหญ่มาก อาจต้องให้เครื่องมือ และอุปกรณ์พิเศษในการผ่าตัด

สัตว์ที่เป็นโรคปากแหว่งเพดานโหว่ ไม่ควรใช้เป็นพ่อแม่ พันธุ์ต่อ รวมถึงพ่อแม่ของสัตว์ตัวนั้นด้วย หากเป็นพันธุ์ที่เสี่ยงต่อการเกิดโรค



เรียบเรียงโดย

น.สพ. พิทวัส ตันสกุล

อ.น.สพ. วรรณสิทธิ์ จันทรวงศ์ อว.สพ. ศัลยศาสตร์



"ธนาคารเลือด ดมยาสลบและผ่าตัดโดยสัตวแพทย์เฉพาะทาง"
ศูนย์ศัลยกรรมสัตว์เลี้ยงกรุงเทพตะวันออก
โรงพยาบาลสัตว์ปาริชาต สุวินทวงศ์

#ธนาคารเลือดสุนัข #ธนาคารเลือดแมว #ธนาคารเลือด #ดมยาสลบ#วิสัญญี #ศัลยกรรม #ศัลยกรรมครบวงจร #ผ่าตัด #สัตวแพทย์เฉพาะทาง#โรงพยาบาลสัตว์ #โรงพยาบาลสัตว์ปาริชาต #สัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญฯ#สุวรรณภูมิ #มีนบุรี #หนองจอก #ลาดกระบัง #ฉะเชิงเทรา #ชลบุรี#นครนายก #ปราจีนบุรี #สระแก้ว

เปิดให้บริการทุกวัน-เวลา 09:00-20:00 น.
ตั้งอยู่ : 91 ถนน คุ้มเกล้า แขวง แสนแสบ เขต มีนบุรี กรุงเทพมหานคร 10510
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร 02-557-6608, 080-499-3265
Website: http://www.psahospital.com
Line: parichartsah
Instagram: parichartsah
GPS : 13.785278, 100.781278