เรื่องเล่าจากฮานอย “เมื่อลูกน้อยของแม่แมวคิตตี้ต้องการความช่วยเหลือ”
0 Vote 3434 Views
เรื่องเล่าจากฮานอย “เมื่อลูกน้อยของแม่แมวคิตตี้ต้องการความช่วยเหลือ”
เข้ารับการรักษาวันที่ 19 ก.พ. 2559
ข้อมูลสัตว์ป่วย

“คิตตี้”เป็นแม่แมวร่างน้อย สายพันธุ์ British Shorthair เพศเมีย อายุ 1 ปี เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสัตว์ไอเว็ทด้วยอาการคลอดลำบาก โดยเจ้าของสังเกตพบว่าภายหลังจากน้องคิตตี้มีน้ำคร่ำไหลออกทางอวัยวะเพศและคลอดลูกแมวตัวแรกออกมาแล้ว หลังจากนั้นน้องคิตตี้มีอาการเบ่งคลอดนานหลายชั่วโมง โดยไม่มีลูกแมวออกมาอีกเลย จึงได้รีบนำตัวน้องคิตตี้ส่งโรงพยาบาล

การตรวจร่างกายและการวินิจฉัย

ภายหลังจากสัตวแพทย์ตรวจร่างกายแล้ว สัตวแพทย์ตัดสินใจให้ฮอร์โมนช่วยกระตุ้นการบีบตัวของมดลูกเพื่อกระตุ้นให้เกิดการคลอดขึ้น โดยพบว่าลูกแมวตัวที่สองและสามคลอดออกมาด้วยท่าทางที่ผิดปกติโดยเอาด้านท้ายตัวคลอดออกมา และติดค้างอยู่ที่บริเวณเชิงกรานของตัวแม่ ทำให้สัตวแพทย์ต้องทำการช่วยคลอดให้ หลังจากนั้นพบว่าแมวไม่มีอาการเบ่งคลอดอีกเลย สัตวแพทย์จึงตัดสินใจตรวจด้วยภาพถ่ายรังสีเอ็กซ์เรย์เพื่อดูว่ายังมีลูกแมวตัวอื่นๆตกค้างอยู่อีกหรือไม่ สัตวแพทย์พบว่ายังมีลูกแมวตัวที่สี่นอนขวางอยู่บริเวณหน้าเชิงกรานของตัวแม่แมว ทำให้ไม่สามารถคลอดออกมาได้ตามปกติ

การรักษา

สัตวแพทย์จึงได้ตัดสินใจวางยาสลบให้แม่แมวและเร่งทำการผ่าตัดช่วยคลอดโดยทันทีเพื่อช่วยเหลือลูกแมวตัวสุดท้าย เป็นที่น่าเศร้ากลับพบว่าลูกแมวตัวดังกล่าวได้เสียชีวิตแล้วในมดลูกของแม่แมว สัตวแพทย์จึงทำการผ่าเอาลูกน้อยที่เสียชีวิตออก ภายหลังจากการผ่าตัดแม่แมวฟื้นตัวจากยาสลบได้ดี สัตวแพทย์จึงได้ให้ยาปฏิชีวินะร่วมกับยาลดปวดลดอักเสบ พร้อมทั้งสอนวิธีการดูแลแผลผ่าตัดให้กับแม่แมว และการดูแลลูกแมวตัวที่ยังมีชีวิตอยู่ด้วย

เกร็ดความรู้จากคุณหมอ

ภาวะคลอดยากทั้งในสุนัขและแมว ถือเป็นภาวะฉุกเฉิน หากพบว่าแม่สุนัขหรือแม่แมวเริ่มมีการเบ่งคลอดลูกตัวแรกนานเกินกว่า 2-4 ชั่วโมง หรือมีระยะห่างในการคลอดลูกแต่ละตัวนานกว่าเกินกว่า 30 นาที เจ้าของควรรีบนำสัตว์เลี้ยงของท่านส่งโรงพยาบาลสัตว์ใกล้บ้านเพื่อช่วยเหลือทั้งตัวแม่และลูกสัตว์โดยเร็วที่สุด ทั้งนี้การพาแม่สุนัขหรือแม่แมวที่กำลังตั้งท้องในช่วงระยะเวลา 35-45 วันเป็นต้นไป ไปตรวจท้องด้วยการฉายภาพรังสีเอ็กซ์เรย์จะช่วยให้สัตวแพทย์ระบุจำนวนลูกสัตว์ที่อยู่ในท้องได้ซึ่งจะมีผลในเรื่องของการเตรียมตัวของเจ้าของในช่วงการคลอดของสัตว์เพราะจะทำให้ทราบว่ายังมีลูกสัตว์เหลืออีกกี่ตัวที่ยังไม่คลอดออกมา รวมไปถึงเป็นประโยชน์ในเรื่องการประเมินความเสี่ยงเรื่องภาวะคลอดยากจากปัญหาเชิงกรานของแม่แคบกว่าหัวลูกสุนัขได้อีกด้วย

เขียนและเรียบเรียงโดย
น.สพ. ตะวัน สันธนะจิตร